ช่องทางติดต่อเพิ่มเติม

พูดคุยกับเราได้ที่ Line Official Account

5

หุ้นสามัญ

บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) [Ticker: BLC]

กลุ่มอุตสาหกรรม: สินค้าอุปโภคบริโภค (CONSUMP)

หมวดธุรกิจ: ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ (PERSON)

ช่วงราคา 52 สัปดาห์ ต่ำ/สูง (บาท): 4.30/ 6.30

% ถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย ณ วันที่ 14 มี.ค. 67: 37.11%

Overview:

  • ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญ ยาสามัญใหม่ ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอื่นๆ
  • คิดค้นยาสมุนไพรที่เป็นต้นตำรับและสร้างสรรค์นวัตกรรม (Original Innovative Herbal Medicine)
  • พัฒนาศูนย์วิจัย BLC Research Center เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
  • บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) (BLC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2535 โดยเภสัชกร 3 ท่าน ได้แก่ ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์  ภก.สมชัย พิสพหุธาร และภก.ศุภชัย สายบัว เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตยาแผนปัจจุบันและผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ โดยเริ่มก่อสร้างโรงงานในปี 2536 และได้รับใบอนุญาต รวมถึงผลิตยาตำรับแรกในปี 2537 จนได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนมิถุนายน ปี 2566
  • BLC ได้พัฒนาศูนย์วิจัย BLC (BLC Research Center) ขึ้นในปี 2555 เพื่อให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้ มุ่งเน้นการบูรณาการภูมิปัญญาไทย โดยนำวิธีการผลิตยาปัจจุบันมาผลิตยาสมุนไพร อย่างเช่น Capsika, Kachana, Plaivana เป็นต้น
  • ปัจจุบัน บริษัทผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาและสุขภาพอื่นๆ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก 1) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยา (Pharmaceuticals) ได้แก่ผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันประเภทยาสามัญและยาสามัญใหม่ (Generics Drugs and New Generic Drugs) ซึ่งมีตัวยาสำคัญเหมือนกับยาต้นแบบหรือยาจดสิทธิบัตร ซึ่งจะผลิตได้ภายหลังยาต้นแบบหมดสิทธิบัตรไปแล้ว ได้แก่ กลุ่มยาที่เกี่ยวกับกระดูกและข้อ กลุ่มยาที่เกี่ยวกับผิวหนัง กลุ่มยาที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร กลุ่มยาที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เป็นต้น ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เช่น Gastro, DiabeDerm, Felgesic gel, Arotika cool gel เป็นต้น

Source: The company’s website

  • ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร (Herbal Medicines) สําหรับการรักษาโรคไม่เรื้อรัง อาทิ กลุ่มยาที่เกี่ยวกับกระดูกและข้อ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เช่น Capsika, Plaivana, Kachana เป็นต้น

Source: The company’s website

  • ผลิตภัณฑ์ยาสําหรับสัตว์ (Animal Medicines) โดยจะเน้นยาสำหรับสัตว์เศรษฐกิจ เช่น สุกร สัตว์ปีก โคนม และสัตว์น้ำ เป็นต้น ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท เพื่อรักษาโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นในฟาร์มปศุสัตว์

Source: The company’s website

  • 2) กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ (Other Health-Related Products) ได้แก่ เครื่องสําอาง (Cosmetics) เช่น เจลว่างหางจระเข้ Burnova gel, Aloe Vera gel, Vitara Anti Acne ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Food Supplements) อย่าง Calza C, Kacha, Bamion, DeeDay ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น สเปรย์ฉีดกันยุง (JUNGO) เป็นต้น

Source: The company’s website

โครงสร้างรายได้

  • บริษัทมีรายได้หลักมาจากผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญและยาสามัญใหม่ คิดเป็น 76.5% ของรายได้จากการขายรวมในปี 2566 ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 10.6% ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร 7.6% ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 3.5% รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างละประมาณ 1% และในเก้าเดือนแรกของปี 2567 สินค้าแต่ละกลุ่มยังคงสัดส่วนรายได้ใกล้เคียงเดิม ยกเว้น ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรที่มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 9.2% ของยอดขายรวม 9M2567
  • โดยรายได้ของบริษัทมาจากภายในประเทศเป็นหลัก ด้วยสัดส่วนมากกว่า 94% ของรายได้จากการขายรวมใน 9M2567 ที่เหลือเป็นรายได้จากต่างประเทศอย่าง ลาว กัมพูชา ฮ่องกง และอื่นๆ ตามลำดับ

โครงสร้างบริษัทและช่องทางการจัดจำหน่าย

  • บริษัทมีช่องทางการจำหน่ายหลักผ่านโรงพยาบาลและร้านขายยา คลินิก รวมกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางการขายอื่นๆ รวมประมาณ 5 ช่องทาง โดยแบ่งตามการจำหน่าย ได้ดังนี้
  • การจำหน่ายแบบผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ (B2B) ให้กับ
    • 1. ลูกค้าร้านขายยา ได้แก่ ร้านขายยาแบบยี่ปั๊ว ร้านขายยาปลีกทั่วไปและที่เป็นเครือข่าย (Health up และ Icare เป็นต้น) และร้านขายยาตาม 7-Eleven
    • 2. โรงพยาบาลรัฐและเอกชน ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด รวมถึงคลินิกอายุรกรรมทั่วไป คลินิกแพทย์เฉพาะทาง เช่น กระดูกและข้อ ผิวหนัง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบประสาท เป็นต้น รวมถึง คลินิกเสริมความงาม
    • 3. ร้านค้าสมัยใหม่ (Modern Trade) ได้แก่ ร้านค้าที่อยู่ในพื้นที่ห้างสรรพสินค้า (Boots, Watsons, Tsuruha, และ Matsumoto Kiyoshi)
    • 4. การส่งออก ผ่านตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ (Selling Agent) รวมมากกว่า 10 ประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา ฮ่องกง เวียดนาม อินโดนีเซีย และอื่นๆ
  • การจำหน่ายสินค้าให้ผู้บริโภคโดยตรง (B2C) ผ่านช่องทางออนไลน์ (E-Commerce) ซึ่งจะเป็นการขายสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
  • ในการจัดจำหน่ายไปในแต่ละช่องทางของ BLC จะผ่านบริษัทย่อยที่มีความชำนาญในการจำหน่ายสินค้าแต่ละกลุ่ม ซึ่ง BLC เองจะทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตสินค้าเกือบทุกประเภทและจำหน่ายไปให้บริษัทย่อยเพื่อทำการจำหน่ายต่อไป โดย BLC มีการถือหุ้นผ่านบริษัท บางกอก ดรัก (BDC) ซึ่งทำหน้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญ และยาสามัญใหม่ และ บริษัท ฟาร์ม่า อัลลิอันซ์ (PAC) อย่างละ 99.99% ซึ่ง PAC จะสนับสนุนงาน Back Office ให้กับบริษัทฝ่ายขายอย่างบริษัท ฟาร์ม่าไลน์ (FLC) บริษัท บีริช (BRC) และบริษัท บางกอก เมดิก้า (BMC) ซึ่งดำเนินธุรกิจจำหน่ายยา เครื่องสำอางสำหรับบำรุงผิว และยาสำหรับสัตว์ ตามลำดับ
  • ในไตรมาส 3 ปี 2567 BLC ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ BKD VIVA ภายใต้ BDC เพื่อจะขยายช่องทางการขายออนไลน์ผ่าน Facebook, Shopee, Lazada และ TikTok โดยเน้นการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ด้วยกลยุทธ์การไลฟ์สดเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า

Source: Analyst Presentation 3Q2024

ในด้านสัดส่วนยอดขายในแต่ละช่องทางการขาย พบว่าบริษัทมีรายได้จากช่องทางร้านขายยาเป็นหลักคิดเป็นสัดส่วน 53.7% ของยอดขายรวมใน 9M2567 ตามมาด้วยจากโรงพยาบาล 37% ส่งออก 5.7% Modern Trade และ ช่องทาง Online คิดเป็น 2.0% และ 1.7% ตามลำดับ

กลยุทธ์และเป้าหมายทางธุรกิจ

  • ใช้การตลาดเชิงรุก เน้นการสร้าง Brand Royalty ให้กับกลุ่มลูกค้าเดิม และสร้าง Brand Awareness ให้กับกลุ่มลูกค้าใหม่ โดยการใช้สื่อออนไลน์ให้ความรู้และสร้างเนื้อหาสุขภาพ รวมถึงการเข้าไปเป็น Sponsorship ตามงานต่างๆ อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ไพลวาน่าในงานของเวทีมวยลุมพินี ผลิตภัณฑ์ Clena และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร DeeDay ในเวทีการประกวด “มิสแกรนด์ กาฬสินธุ์ 2025” และแบรนด์ Arotika ในงานแข่งขันกีฬา TAAP Qualifier 2 และ Spartan Race Thailand 2024
  • มีเป้าหมายการวางจำหน่ายสินค้าใหม่ในทุกไตรมาส โดยเป็นยาสามัญใหม่ไม่น้อยกว่า 2 รายการต่อปี ซึ่งบริษัทมีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์กลุ่มยาสามัญและยาสามัญใหม่ 2-3 รายการในปี 2568 รวมถึงสินค้ากลุ่มอื่นอย่างเครื่องสำอาง อาหารเสริม หรือยาสุมนไพร โดยเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ 1 ตัวต่อ 1 ไตรมาส เพื่อรักษาอัตราการเติบโตของรายได้และอัตราการทำกำไรของบริษัท ประกอบกับการเน้น Portfolio Management เพิ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพร เวชสำอาง ยาสัตว์ให้มากขึ้น
  • นำเสนอสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของโรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากยาที่วางจำหน่ายในโรงพยาบาลรัฐจะเป็นการสั่งซื้อจำนวนมากและต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทมีทีมขายในแต่ละบริษัทย่อยที่เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลรัฐครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเริ่มจากโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นตัวสินค้า และจะขยายเครือข่ายกลุ่มแพทย์ตามกลุ่มโรคการรักษา
  • พาทเนอร์กับ Nichi-iko ซึ่งเป็นบริษัทยาชั้นนำของญี่ปุ่น ทำให้ BLC ได้รับสิทธิ์จำหน่ายยาแผนปัจจุบันของบริษัทนิชิอิโคะ (Nichi-Iko) ผ่านช่องทางร้านขายยาแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดยเริ่มจัดจำหน่ายตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 ซึ่งบริษัทคาดว่าจะส่งผลต่อยอดขายในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 อย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างยาของ Nichi-Iko ที่จำหน่ายในไทย ได้แก่ กลุ่มยารักษาเบาหวาน (NIKP-Glimepiride tablet 3 mg) กลุ่มยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด (NIKP-Bisoprolol tablet 2.5mg) ยาที่ใช้รักษาภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (NIKP-Pitavastatin tablet 2mg) เป็นต้น
  • สร้างโรงงานการผลิตใหม่ เพื่อรองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากกำลังการผลิตเดิมที่มีการใช้เกือบเต็มกำลัง โดยเฉพาะการใช้อัตรากำลังการผลิตของยาครีมรูปแบบหลอดและรูปแบบกระปุกในไตรมาส 3 ปี 2567 อยู่ที่ 129% และ 130% ตามลำดับ ซึ่งโรงงานใหม่จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตยารูปแบบอื่นๆ รวมถึงยาครีมแบบหลอดจากเดิม 7.5 ล้านหลอด เป็น 45.6 ล้านหลอดต่อปี และแบบกระปุกจากเดิม 3 แสนกระปุก เป็น 2.4 ล้านกระปุกต่อปี โดยโรงงานเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2567 แล้วคาดว่าจะเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2569
  • ตั้งเป้ายอดขายโตเฉลี่ยปีละ 200 ล้านบาท บริษัทวางแผนให้รายได้จากการขายโตเฉลี่ยปีละ 200 ล้านบาท ในปี 2567 – 2569 โดยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตในปี 2567 นี้ มาจากการเพิ่มช่องทางการขาย การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงการที่ยาสมุนไพรได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ อย่าง CAPSIKA ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายผ่านสิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐบาลได้ ส่งผลต่อยอดการสั่งซื้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้ง ยา Hepivir (ยารักษาไวรัสตับอักเสบบี) ได้รับการประกาศบรรจุเข้าสู่บัญชียานวัตกรรม ส่งผลให้เพิ่มโอกาสในการขายสินค้าให้กับโรงพยาบาลรัฐมากขึ้น

Source: Analyst Presentation 3Q2024

Industry Analysis

อุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบัน

  • ในช่วงปี 2564 – 2566 ตลาดยาในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ประมาณ 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 (CAGR 0.9%) และคาดว่าจะเติบโตไปถึง 6,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2570 ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักอย่างการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนมากกว่า 28% ของจำนวนประชากรในปี 2567 เทรนการใส่ใจดูแลสุขภาพ และรวมไปถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปอาจเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะในโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และจำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น
  • อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยาของไทยยังเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาที่มีราคาถูกจากจีนและอินเดีย ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของนักลงทุนต่างชาติ (บริษัทยาต่างชาติ) ที่เป็นตัวแทนนำเข้ายาต้นตำรับหรือยาจดสิทธิบัตร (Original drug หรือ Patented drug) และบางรายใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ประกอบกับต้นทุนของผู้ผลิตยาในประเทศสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบนำเข้า นอกจากนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันของไทยส่วนใหญ่ จะอยู่ในขั้นปลาย คือ การผลิตยาสำเร็จรูป โดยจะนำเข้าวัตถุดิบตัวยาสำคัญ (Active Ingredients) จากต่างประเทศ และนำมาพัฒนา ผสม และผลิตเป็นยาสำเร็จรูปในรูปแบบต่างๆ

อุตสาหกรรมยาสมุนไพร

  • มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรอยู่ที่ 57,000 ล้านบาท ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 9.3% จากปีก่อนหน้า (อ้างอิงข้อมูลจาก งานมหกรรมสมุนไพรนานาชาติ International World Trade of Herbal city 2024) ซึ่งไทยมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบสมุนไพรกว่า 1,800 ชนิด และยังติดอันดับโลกด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ซึ่งในปี 2565 มีผู้ป่วยต่างชาติมารักษา 34,088 ครั้ง สร้างรายได้กว่า 34,000 ล้านบาท 
  • ด้วยสถานประกอบการเพื่อสุขภาพถึง 14,023 แห่ง และกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น แพทย์แผนไทย สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อตอบรับนโยบายของรัญบาลในการเป็น Medical Hub ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 จึงทำให้การบริโภคสมุนไพรไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในอนาคต พร้อมกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
  • แม้จะมีการผลักดันการบริโภคจากภาครัฐบาล แต่ผู้เพาะปลูกสมุนไพร หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการต้นน้ำยังได้รับผลตอบเเทนน้อย ประกอบกับ การแปรรูปสมุนไพรโดยใช้นวัตกรรมขั้นสูง อย่าง สารสกัด/ สารตั้งต้น หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสมุนไพร เช่น เครื่องสำอาง ยา และเสริมอาหาร ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อมด้านเงินทุนและเทคโนโลยี ส่งผลให้พืชสมุนไพรยังไม่ถูกนำมาพัฒนาอย่างกว้างขวางมากนักในไทย ท่ามกลางประเทศคู่แข่งที่มีความพร้อมด้านวัตถุดิบและมีชื่อเสียงในกลุ่มสมุนไพรหายาก อย่างเช่น จีน อินเดีย และเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดได้เปรียบของ BLC ในการเป็นผู้นำด้านการคิดค้นนวัตกรรมยาสมุนไพร สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดได้เป็นอย่างดี

Financial Performance

  • รายได้จากการขายในปี 2566 ขยายตัว 13.5% YoYมาอยู่ที่ 1,406.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 167.7 ล้านบาทจากปีก่อนหน้า จากกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกต่อเนื่อง เน้นสร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย การออกบูธแสดงสินค้า และการสื่อสารผ่านช่องทางทั้ง Offline และ Online ท่ามกลางอุตสาหกรรมยามีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นต่อเนื่องจากการกลับมารักษาในโรงพยาบาลตามปกติของผู้ป่วย ส่งผลต่อความต้องการใช้ยารักษาโรคเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงบริษัทมีการออกผลิตภัณฑ์ยาสามัญใหม่ในช่วงไตรมาส 4 เช่น Finasteride ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมสำหรับผู้ชาย
  • ผลการดำเนินงานในปี 2566 โตขึ้น 16.3% YoY สะท้อนที่อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 10.5% ในปี 2565 เป็น 10.7% ในปี 2566 ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายและบริการ พร้อมกับการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่ลดลง จึงส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิสำหรับปีเพิ่มขึ้น 21.1 ล้านบาท
  • รายได้จากการดำเนินงานใน 9 เดือนแรกปี 2567 ยังเติบโตต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 12.2% จากงวดเดียวกันปีก่อน มาอยู่ที่ 1,134 ล้านบาทโดยหลักจากการจับมือพันธมิตรทางธุรกิจกับคู่ค้าเพิ่มขึ้น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อเนื่องในทุกไตรมาส ประกอบกับการที่มียาได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ และบัญชียานวัตกรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสของช่องทางการขายในโรงพยาบาลรัฐ พร้อมทั้งการทำการตลาดเชิงรุกต่อเนื่องของบริษัท ท่ามกลางความต้องการใช้ยารักษาโรคเพิ่มขึ้น อีกทั้ง มีการจัดตั้งบริษัทย่อย BKD VIVA เพื่อขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมมากขึ้นทุกแพลตฟอร์ม และมีรายได้อื่นเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยรับของเงินลงทุนระยะสั้น ซึ่งส่งผลให้กำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือน เพิ่มขึ้น 20.5% YoY และอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10.7%
  • ในปี 2567-2568 รายได้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง มาจากปัจจัยสนับสนุน ดังนี้
  • 1) การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในทุกไตรมาส โดยบริษัทมีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยาสามัญและยาสามัญใหม่ ประมาณ 2-3 รายการในปี 2568 และบริษัทตั้งเป้าหมายจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างน้อย 1 ผลิตภัณฑ์ต่อไตรมาสในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่จะสร้างรายได้เฉลี่ยประมาณ 5%
  • 2) การพาทเนอร์กับบริษัทยาของญี่ปุ่น Nichi-iko (นิชิอิโคะ) ทำให้บริษัทมีสิทธิจำหน่ายยาแผนปัจจุบันของ Nichi-Iko ผ่านช่องทางร้านขายยาแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดยปัจจุบันบริษัทได้จัดจำหน่ายยาของ Nichi-iko ในร้านขายยาแล้วกว่า 200 แห่ง และมีแผนขยายเป็น 400 แห่ง ภายในปี 2568
  • 3) การที่ผลิตภัณฑ์ได้เข้ารับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มยอดขายโดยเฉพาะจากโรงพยาบาลรัฐได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะเป็นการสั่งซื้อในปริมาณมากและต่อเนื่อง

Risk Factors

  • ความเสี่ยงจากการแข่งขันสูง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันของบริษัท เป็นประเภทยาสามัญและยาสามัญใหม่ ซึ่งมีตัวยาสำคัญ (Active Ingredient) ชนิดเดียวกันกับยาต้นแบบ โดยเมื่อสิทธิบัตรของยาต้นแบบหมดอายุ ผู้ผลิตยาสามัญใหม่ที่สามารถผลิตและออกสู่ท้องตลาดรายแรกๆ จะมีอัตรากำไรค่อนข้างสูง เนื่องจากสามารถจำหน่ายได้ในราคาต่ำกว่ายานำเข้าที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน แต่หลังจากนั้น ก็จะมีผู้ผลิตยาขนาดกลางและขนาดเล็กออกมาผลิตยาสามัญใหม่แบบเดียวกันคุณภาพต่างกัน เพื่อทำการแข่งขันด้านราคา ทำให้อัตราการทำกำไรของยาชนิดนั้นๆ ลดลง ประกอบกับ การนำเข้ายาราคาถูกจากจีนและอินเดีย ดังนั้น บริษัทจะเผชิญกับสินค้าของคู่แข่งที่ทดแทนกับสินค้าของบริษัทได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าการวางจำหน่ายยาไม่น้อยกว่าปีละ 2 รายการ โดยมุ่งเน้นยารักษาโรคที่มีอัตราผู้เป็นโรคในประเทศไทยสูง อีกทั้ง BLC มีศูนย์วิจัยและความสามารถในการผลิต Active Ingredient จากการสกัดสารจากสมุนไพรไทย ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งและเพิ่มอัตราการทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง

  • ความเสี่ยงจากการปรับสินค้าได้ยาก ด้วยรายได้จากช่องทางโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้รองลงมาจากร้านขายยา เผชิญข้อจำกัดในเรื่องราคากลางอ้างอิง ทำให้บริษัทไม่สามารถปรับราคาขายยาสูงกว่าราคากลางได้ ประกอบกับเมื่อผู้ผลิตยาขนาดกลางและเล็ก ผลิตยาสามัญใหม่รูปแบบเดียวกันคุณภาพต่างกัน เพื่อทำการแข่งขันด้านราคา ก็จะส่งผลต่อราคาและการทำกำไรของยาสามัญใหม่ค่อยๆปรับลดลง ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างเครื่องสำอาง และยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บริษัทอาจไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ทันที ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออัตราการทำกำไรได้

ดังนั้น บริษัทมีแนวทางลดความเสี่ยงในการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดจำหน่าย รวมถึง เป้าหมายการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางในทุกไตรมาส จะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาและสร้างอัตราในการทำกำไรในภาพรวมไว้ได้อย่างต่อเนื่อง

  • ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากในการผลิตยาสามัญ จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบตัวยาสำคัญจากต่างประเทศภายหลังที่สิทธิบัตรของยาต้นแบบ (Original Drugs หรือ Patented Drugs) หมดอายุ โดยบริษัทนำเข้าวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์จากต่างประเทศ คิดเป็น 9% และ 12% ของยอดซื้อทั้งหมดในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ซึ่งส่วนมากเป็นการนำเข้าด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จากประเทศจีน อินเดีย และประเทศแถบยุโรป แม้ว่าที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีนัยสำคัญต่อบริษัท แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมีความผันผวนสูง ซึ่งสามารถส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำหนดแนวทางจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างชัดเจน โดยการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) หรือ วิธีเจรจาซื้อสินค้าในสกุลบาท

ข้อจำกัดความรับผิด (Disclaimers):

กดด้านล่างเพื่อดูรายละเอียด ข้อจำกัดความรับผิด:

FynnCorp IAS Research Disclaimers | Visible

  • , , ,

    ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ เดือน มีนาคม 2568 : Bond Research

    มูลค่าตราสารหนี้เสนอขายในเดือน มีนาคม 2568 ลดลง 4.54% MoM แต่เพิ่มขึ้น 7.73% YoY ที่ 6.7 หมื่นล้านบา…

  • , , ,

    ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ เดือน กุมภาพันธ์ 2568 : Bond Research

    มูลค่าเสนอขายหุ้นกู้เสนอขายในเดือน กุมภาพันธ์ 2568 เพิ่มขึ้น 8.42% MoM แต่ลดลง 21.4% YoY ที่ 7.1 หมื…

  • , ,

    รายงานตัวเลข GDP ไทย Q4/2567 โตต่ำกว่าคาด 2.5%

    ในไตรมาสที่ 4/2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแม้จะต่ำกว่าที่คาด…

  • ,

    หุ้น ERW ผู้พัฒนาลงทุนในธรุกิจโรงแรมชั้นนำ [FynnCorp IAS Equity Research]

    ERW ได้รับปัจจัยบวกจากจำนวนนักท่องที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้กลุ่มบริษัทสามารถฟื้นตัวได้อย่างดี และมีผลการ…