ช่องทางติดต่อเพิ่มเติม

พูดคุยกับเราได้ที่ Line Official Account

2

หุ้นกู้

Business Sector: Finance and Securities

Company Rating: Unrated

Issue Rating: Unrated

Listed Status: MAI

  • ภาพรวมธุรกิจ บริษัท ไนท คลับ แคปิตอล โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (KCC) จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ในเดือนสิงหาคม ปี 2566 เพื่อดำเนินธุรกิจด้วยการเข้าลงทุนถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ซึ่ง KCC ดำเนินธุรกิจหลักด้วยการถือหุ้น 99.73% ภายใต้ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (KCCAMC) ที่ประกอบธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ จากการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) จากสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน แล้วนำมาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA) เพื่อนำมาพัฒนาและจำหน่ายต่อไป
  • นอกจากนี้ KCC ยังดำเนินธุรกิจหลักด้วยการถือหุ้น 100% ภายใต้ บริษัท เคซีซี แอสเซท รีคัฟเวอรี่ จำกัด (KCCAR) ซึ่งดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากการรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้ NPLs เช่น การซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพประเภทหุ้นกู้ หรือประเภทลูกหนี้การค้าจากบุคคลหรือนิติบุคคลที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และนำมาบริหารจัดการ ปรับปรุงและจำหน่ายต่อไป
  • แหล่งรายได้ มาจาก 1) การบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ อย่างดอกเบี้ยรับจากเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ จากกำไรการรับชำระหนี้ และจากกำไรการขายเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ เป็นต้น และ 2) กำไรจากการขายทรัพย์สินรอการขายที่บริษัทได้มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม ปรับปรุงให้มีสภาพดีพร้อมใช้ประโยชน์ เพื่อให้สามารถจำหน่ายให้กับบุคคลภายนอกได้ นอกจากนี้ ยังมี 3) รายได้จากการดำเนินงานอื่น เช่น รายได้จากการให้บริการบริหารสินทรัพย์ รายได้ดอกเบี้ยรับจากธนาคาร และอื่นๆ
  • ผลการดำเนินงานปี 2567 เมื่อรวมรายได้จากการดำเนินงาน 3 แหล่งข้างต้นจะอยู่ที่ 185.7 ล้านบาทในปี 2567 โดยรายได้มาจากธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเป็นหลัก คิดเป็นกว่า 93% หรือมูลค่า 172.8 ล้านบาท ตามด้วยกำไรจากการขายทรัพย์สินรอการขาย มูลค่า 9.5 ล้านบาท (5%) และรายได้อื่นๆ ส่วนกำไรสุทธิ อยู่ที่ 81.8 ล้านบาท
  • อย่างไรก็ตาม รายได้จากการดำเนินงานลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน 2.8% YoY สาเหตุหลักมาจากกำไรสุทธิจากการรับชำระหนี้ลดลง 58.3% YoY อยู่ที่ 10.98 ล้านบาท จาก 26.35 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่งปกติบริษัทจะรับรู้กำไรส่วนนี้เมื่อได้รับเงินส่วนที่เกินกว่าราคาทุนที่จ่ายซื้อลูกหนี้และดอกเบี้ยที่ได้รับชำระจากลูกหนี้ ส่วนกำไรจากการขายทรัพย์สินรอการขายที่จำหน่ายได้ ลดลง 32.7% YoY ขณะเดียวกัน กำไรสุทธิลดลงจากปีก่อนหน้า 2.8% จากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มจากการออกหุ้นกู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเพิ่มเติม
  • แม้ว่ารายได้ภาพรวมจะลดลงเล็กน้อย แต่รายได้หลักของบริษัท อย่างรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้สุทธิของบริษัท ยังเติบโต 17.3% YoY มาอยู่ที่ 159.8 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีการลงทุนเพิ่มในพอร์ต NPL ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น และการขยายตัวของพอร์ต สะท้อนศักยภาพในการสร้างรายได้และผลตอบแทนในระยะยาวของบริษัท
  • สถานะทางการเงิน บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 304 ล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ratio) อยู่ที่ 1.06 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/E) อยู่ที่ 1.00 เท่า สะท้อนว่าหนี้สินส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย โดยหลักเป็นตราสารหนี้ คิดเป็น 88.5% ของหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยทั้งหมด
  • โดยบริษัทสามารถจ่ายดอกเบี้ยอยู่ในระดับดี สะท้อนจากอัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (ICR) ที่ 2.14 เท่า อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนความสามารถในการชำระผูกพัน (DSCR) อยู่ที่ 0.26 เท่า หมายความว่า มีกำไร EBITDA ครอบคลุมภาระหนี้ (ดอกเบี้ย + เงินต้น) ที่ครบกำหนดใน 1 ปี ได้เพียง 26% ส่งผลให้บริษัทต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้ใหม่ เช่น การออกหุ้นกู้
  • KCCH เสนอขายหุ้นกู้ ต่อผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ เป็นหุ้นกู้เสี่ยงสูง ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน อายุ 1 ปี 11 เดือน 29 วัน อัตราดอกเบี้ย 6.00% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน เปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2568 โดยบริษัทไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือขององค์กรและหุ้นกู้ มีวัตถุประสงค์การออกหุ้นกู้ครั้งนี้ เพื่อให้กู้ยืมแก่บริษัทย่อย เพื่อนำไปใช้ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะยาว
  • การดำรงอัตราส่วนทางการเงิน บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนของหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/E) ตามข้อกำหนดสิทธิของผู้ออกหุ้นกู้ ไม่เกิน 2.5 เท่า ณ วันสิ้นงวดบัญชี

Source: ThaiBMA

Key Risk Factors:

  • ความเสี่ยงในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ บริษัทมีความเสี่ยงหากลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายชำระเงินตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน หรือการดำเนินกระบวนการทางศาลล่าช้า หลักประกันไม่คุ้มหนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีขั้นตอนการคัดเลือกสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ด้วยการดำเนินการสอบทานข้อมูล (Due Diligence) อย่างละเอียด
  • ความเสี่ยงจากการจัดซื้อลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจที่ไม่มีหลักประกันหากเกิดเหตุการณ์ที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ให้กับบริษัทได้ บริษัทจะต้องดำเนินการฟ้องร้อง เพื่อบังคับคดีกับทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ ซึ่งใช้ระยะเวลาและอาจส่งผลต่อกระแสเงินสดรับ และความสามารถในการชำระคืนหนี้ได้ ดังนั้น บริษัทจึงให้ความสำคัญในการพิจารณา ประเมิน และกำหนดราคาซื้อลูกหนี้ทุกครั้งที่เข้าประมูลซื้อลูกหนี้ อย่างเช่น การพิจารณาภาระหนี้คงเหลือ ความสามารถในการชำระหนี้ พิจารณาแผนธุรกิจ วิเคราะห์งบการเงิน และอุตสาหกรรม เป็นต้น
  • ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบริษัท จากการที่บริษัทมีลูกหนี้ 1 ราย ที่มีสัดส่วนมากกว่า 30.4% ของเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับสุทธิของ KCCAMC ณ สิ้นปี 2567 โดยเป็นสินเชื่อธุรกิจที่มีหลักประกัน ซึ่งผลการดำเนินงานของลูกหนี้อาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ ทำให้ส่งผลต่อผลการดำเนินงานของบริษัทตามมา บริษัทจึงได้ติดตามลูกหนี้นี้ และมีการประเมิน ติดตามมูลค่าหลักประกันอย่างสม่ำเสมอ โดยมีรายงานความคืบหน้าทางคดีต่อคณะกรรมการบริษัททุกเดือน และรายงานต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงทุกไตรมาส

ข้อจำกัดความรับผิด (Disclaimers):

กดด้านล่างเพื่อดูรายละเอียด ข้อจำกัดความรับผิด:

FynnCorp IAS Research Disclaimers | Visible